ความฝัน

ความฝัน คือ ภาพที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวขณะที่เรากำลังนอนหลับ ซึ่งมีทั้งดี ทั้งร้าย หรือบางคนก็อาจจะฝันถึงคนที่จากเราไปแล้ว โดยเหตุการณ์ต่าง ๆ ในขณะที่เราฝันอาจทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกไม่สบายใจ วิตกกังวลว่าอาจจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น วันนี้จะพาทุกคนไปไขข้อสงสัยกันว่า “ความฝันเป็นลางบอกเหตุหรือไม่”

แม้ว่าความฝัน จะเป็นเรื่องพิศวงที่ใครต่อใครต่างก็พากันพิสูจน์ว่าเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับเรื่องลี้ลับหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ แล้ว การที่เราเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ในขณะที่นอนหลับอยู่นั้น เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอย่างแน่นอน ที่บางครั้งมีการนำเรื่องของเราทั้งดี และไม่ดี มาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว ทำให้ในความฝันบางครั้งเราจะรู้สึกว่าเหมือนเรื่องจริงมาก ๆ

ความฝันเกิดจากอะไร ?

ความฝันเกิดจาก

การทำงานร่วมกันของ “สมองส่วนฮิปโปแคมปัส นีโอคอร์เท็กซ์”  และส่วนอื่น ๆ จะส่งชุดความจำ ทำให้ความฝันเกิดขึ้นในขณะนั้น และที่บางครั้งเราฝันถึงบางเรื่องที่เคยเกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะความจำของเราบางส่วนถูกนำไปผสมเชื่อมโยงด้วย จึงทำให้หลาย ๆ คนคิดว่า “ความฝันเป็นลางบอกเหตุ”

จริง ๆ แล้วความฝันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับลางร้าย หรือบอกเหตุอะไรเลย แต่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น จากการทำงานของสมองที่ใช้ลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ทิ้งไป แล้วเก็บเฉพาะข้อมูลที่มีประโยชน์ไว้ในคลังของความจำระยะยาว หรือเกิดจากความเครียดที่สะสมมาเรื่อย ๆ จนเก็บไปนึกคิดเป็นความฝัน หรือเกิดจากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างวัน

หรือว่าความฝันกำลังบอกอะไรบางอย่าง ?

ความฝันบอกอะไร

โดยแต่ละคนก็จะมีลักษณะของความฝันที่แตกต่างกันออกไป และซับซ้อนมาก ๆ เพราะมีความเชื่อมโยงทั้งสมอง ระบบประสาท ความคิด และเรื่องราวที่เคยเจอ รวมไปถึงอาจเป็นสัญญาณเตือนอาการเจ็บป่วยได้อีกด้วย ซึ่งจากสาเหตุต่าง ๆ ส่งผลให้ความฝันสามารถแบ่งออกเป็นหลายชนิด ดังนี้

  • ลูซิดดรีม (Lucid Dream) คือความฝันแบบที่เรารู้ตัว ซึ่งชนิดนี้เราจะเห็นว่าตัวเราเองอยู่ในนั้นด้วย บางคนก็สามารถควบคุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นในความฝันได้ โดยหลายคนให้นิยามว่า ลูซิดรีม เป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุขให้กับเราในขณะที่นอนหลับได้ดีเยี่ยม เพราะเราสามารถเนรมิตทุกสิ่งที่ต้องการในช่วงเวลานี้ได้

    ความฝันแบบรู้ตัวจะเกิดขึ้นในช่วงที่เราหลับลึกที่สุด หรือที่เรียกว่าช่วง “ REM Sleep ” คือช่วงที่กล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายหยุดทำงาน ยกเว้น กล้ามเนื้อเรียบ กระบังลม หัวใจ และกล้ามเนื้อตา โดยตอกแรกที่เริ่มเข้าสู่ความฝัน จะยังไม่รู้ตัวว่ากำลังฝัน แต่สมองส่วนหน้าที่กำลังทำงานอยู่ขณะเราหลับ ก็อาจจะกระตุ้นให้ตัวเรารับรู้ได้ว่ากำลังอยู่ในความฝัน

    หากใครอยากมีความฝันแบบที่ควบคุมได้อย่างลูซิดดรีม (Lucid Dream) จริง ๆ แล้วสามารถฝึกฝนได้ด้วยหลากหลายเทคนิค เช่น การเตือนตัวเองว่าเราต้องจำความฝันให้ได้ก่อนการนอน การหากิจกรรมเบา ๆ ทำอย่างอ่านหนังสือหลังจากตื่นนอน 5 ชั่วโมง หรือการจำเรื่องราวที่เกิดขึ้น ว่ามีอะไรบ้าง พยายามนึกไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับ เมื่อได้ลองฝึกฝนบ่อย ๆ แล้วก็จะช่วยให้ทุกคนมีความฝันแบบที่เราควบคุมเองได้แล้ว

  • รีเคอร์ลิ่งดรีม (Recurrent Dream) คือการฝันซ้ำวนไปมาเรื่องเดิม ๆ ความฝันชนิดนี้มักเกี่ยวข้องกับเรื่องร้าย ๆ หรือความทุกข์ใจ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่กว่า 70% เพราะอาจเกิดจากความกังวลเรื่องต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเรื่องงาน ความรัก ครอบครัว หรือการเงิน จึงทำให้วัยนี้มีฝันซ้ำอยู่บ่อยครั้ง

    ปัจจัยที่ส่งผลให้หลายคนมีความฝันที่ซ้ำไปซ้ำมา นอกจากเรื่องความเครียดแล้ว ยังเกิดได้จากสภาวะป่วยทางจิตใจ (PTSD) ที่เพิ่งผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมา จนเก็บไปฝันอยู่ซ้ำ ๆ และยังสามารถเกิดได้จากยาระงับประสาทบางชนิด รวมไปถึงสารเสพติด โดยปัจจัยเหล่านี้ยังส่งผลให้เกิดปัญหานอนไม่หลับได้อีกด้วย
ฝันร้าย
  • ไนท์แมร์ (Nightmare) หรือฝันร้าย มีลักษณะความฝันคล้ายกับการฝันซ้ำไปมา เพราะจะเป็นไปในเชิงลบ ที่เกิดจากความกังวลใจ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เพียงแต่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ

    ฝันร้ายยังเกิดได้จากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่าง ผู้ป่วยโรคไมเกรน ภาวะซึมเศร้า หรือผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ที่ส่งผลให้เกิดความฝันอันน่ากลัว ไม่น่าจดจำ จนทำให้บางคนถึงกับสะดุ้งตื่น หรือร้องกรี๊ดออกมาขณะหลับ

ความฝันแบบซ้ำไปซ้ำมา หรือฝันร้าย หลาย ๆ คนคงไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน คงอยากหลับลึก แบบไม่ต้องฝันถึงเรื่องอะไรเลย ซึ่งสามารถทำได้เช่นกัน ถ้าลองใช้ 4 วิธีต่อไปนี้

4 วิธี ! เปลี่ยนความฝันน่ากลัวให้เป็นฝันดีน่าจดจำ

ความฝัน

ถ้าคุณไม่อยากมีความฝันที่น่ากลัว ต้องลองใช้ 4 วิธีนี้ หนีฝันร้าย แถมยังช่วยให้ฝันดี มีแต่เรื่องราวที่น่าจดจำ

  • งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอนอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพราะแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายหลายอย่าง เช่น โรคไมเกรน นอนหลับไม่สนิท หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคเหล่านี้ก่อให้เกิดความฝันเชิงลบ หรือฝันร้ายได้

  • ปิดไฟห้องนอนให้มืดสนิท หรือให้มีเพียงแสงสลัว ๆ มีประโยชน์ต่อการสร้างสารเมลาโทนินให้กับร่างกายอย่างมาก ทำให้หลับสนิทขึ้น และหลับลึก (REM Sleep) จนสามารถมีความฝันแบบควบคุมเองได้

  • ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้เย็นสบาย วิธีนี้มีประโยชน์จนหลายคนต้องอึ้งไปเลย เพราะบางคนยังไม่รู้ว่าการนอนในห้องแอร์เย็น ๆ ช่วยลดน้ำหนักได้ และยังช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอนสามารถหลับได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสมองส่วนหน้าที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความฝันอีกด้วย

  • จุดเทียนหอมให้ผ่อนคลาย เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย จนนอนหลับได้ง่ายขึ้น และยังเข้าสู่ภาวะหลับลึกได้ง่าย ๆ ทีนี้อยากจะควบคุมอะไรในความฝันก็สามารถทำได้ไม่ยากเลย

ถ้าหากลองใช้ 4 วิธีนี้แล้วยังมีแต่ความฝันเชิงลบ หรือยังฝันร้ายซ้ำไปซ้ำมาจนเป็นผลเสียต่อสุขภาพ ขอแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อหยุดเห็นภาพ หรือเรื่องราวน่ากลัว ๆ ขณะหลับอีก

สรุป

ความฝันเป็นเพียงความวิตกกังวลที่เคยเกิดขึ้น ทำให้สมองเก็บไปคิดจนกลายเป็นเรื่องราวขณะนอนหลับ ไม่อาจเป็นลางบอกเหตุได้ ยกเว้นว่ามีปัญหาฝันร้ายอยู่บ่อย ๆ กรณีนี้คือสัญญาณเตือนเรื่องสุขภาพของร่างกาย ควรรีบแก้ไข ! ถ้านำ 4 วิธีตามข้างต้นมาปรับใช้แล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องรีบหาหมอ อย่ามัวแต่กังวลว่าจะเป็นลางร้ายบอกเหตุอะไร